แนวโน้มตลาดหุ้นไตรมาส 4/65 และมุมมองตลาดหุ้นปี 2566

เรื่องที่น่าสนใจ เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวตามตลาดโลก

แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วพบว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ต่อเนื่องถึงปี 2566 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยยังคงเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง จนถูกมองว่าเป็น Safe Haven จากหลายๆ ปัจจัย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ประเทศไทยมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ตัวเลข GDP ของปี 2565 และ 2566 ว่ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.3% และ 3.8% ตามลำดับ จาก GDP ปี 2564 ที่ขยายตัว 1.5%

โดยการเติบโตหลักๆ มาจากภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวทยอยเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยปัจจุบันคาดว่าในไตรมาส 4 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านคน และเป้านักท่องเที่ยวทั้งปี 2565 อยู่ที่ 10 ล้านคน และเพิ่มเป็น 25 ล้านคนในปี 2566

ปัจจัยเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 1% นั้น แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่ายังไม่ใช่ระดับสูงสุด แต่เชื่อว่ามีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะทยอยปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง และเห็นได้ชัดว่าอัตราเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ในปีหน้า โดยจะทยอยลดลงในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ 6.3% และปี 2566 อยู่ที่ 2.6%

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว ปัจจัยเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยก็ยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดี โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ที่กำลังทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่องนั้นส่วนใหญ่มีผลประกอบการที่ค่อนข้างดี เริ่มต้นด้วยผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาค่อนข้างดีตอบรับกับช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นที่เป็นประโยชน์ต่อธนาคาร

รวมทั้งมีการตั้งสำรองที่ลดลง และการเติบโตของสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากหุ้นกลุ่มธนาคารแล้ว กลุ่มพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว โรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก กลุ่มส่งออกอาหาร และกลุ่มการขนส่งก็มีแนวโน้มผลประกอบการดีขึ้นเช่นกัน

ซึ่งแนวโน้มการเติบโตของผลประกอบของบริษัทจดทะเบียนนี้จะต่อเนื่องไปถึงปี 2565 ทั้งนี้การเลือกตั้งในปีหน้าที่ใกล้เข้ามา นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ โดยเฉพาะเมื่อใกล้ช่วงเลือกตั้งมักจะมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนระดับรากหญ้ามากขึ้น และทำให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น

จากปัจจัยบวกด้านต่างๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น น่าจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่ดีในช่วงสิ้นปี 2565 ทั้งนี้ มองว่า SET Index ที่ระดับปัจจุบันเป็นระดับราคาที่ได้ดูดซับผลกระทบจากแรงกดดันต่างๆ ไว้มากแล้ว อีกทั้งปัจจัยต่างๆ ที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นเริ่มผ่อนคลาย ทั้งเรื่องภาวะเงินเฟ้อที่น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและมีแนวโน้มลดลง เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นในอัตราที่ช้าลง

ธนาคารกลางต่างๆ มีทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สอดคล้องกันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยลดความผันผวนของค่าเงิน บวกกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าภาครัฐจะมีการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จีนจะประกาศลดวันกักตัวกรณีเดินทางกลับจากต่างประเทศจาก 10 วันเหลือ 7 วัน ซึ่งหากมีการประกาศใช้จริงก็จะเป็นผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเห็นแนวโน้มตลาดหุ้นที่ปรับตัวได้ค่อนข้างดีในไตรมาส 4 นี้ แต่ก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง เพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่ยังไม่แน่ใจว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ สหภาพยุโรป และอังกฤษ และประเทศสำคัญในเอเชีย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม

โดยเฉพาะเกี่ยวกับภาคการส่งออก รวมถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ขยายวงกว้างขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นโลกได้

ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนอย่างในภาวะปัจจุบัน ควรเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้ คาดการณ์ระดับ SET Index ช่วงสิ้นปีนี้ต่อเนื่องถึงปี 2566 จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 1,560-1,795 จุด